ปวดหลังล่าง – ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม อาการยอดฮิตของผู้คนในยุคสมัยใหม่

            อาการปวดหลังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย โดยจะพบมากในวัยทำงานและผู้สูงวัย แต่ในปัจจุบันแนวโน้มอาการปวดหลังเริ่มพบได้มากขึ้นในกลุ่มของวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการปวดหลังล่าง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (work from home) หรือ เรียนจากที่บ้าน (study from home) โดยเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เนื่องจากต้องเข้าประชุม เรียน หรือ ทำงาน ประกอบกับการนั่งผิดท่า ผิดวิธี สภาพแวดล้อมต่างๆที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น ขนาดเก้าอี้ โต๊ะ ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นได้ หรือ การยกเวท การยกของที่มีน้ำหนักมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงท่ายกที่มีความปลอดภัยก็อาจจะทำให้หลังมีอาการบาดเจ็บหรือปวดขึ้นมาได้

อาการปวดหลังเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของร่างกาย ถ้าหากปล่อยไว้นานอาจจะเกิดเป็นโรคปวดหลังเรื้อรังทำให้รบกวนการใช้ชีวิต ทั้งการทำงาน การเดินทางและเวลาพักผ่อน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้

อาการของการปวดหลังล่าง

อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยทั่วไปจะมีอาการดังนี้

  • ปวดตื้อๆ บริเวณหลังส่วนล่าง
  • ปวดร้าวลงขา ชา หรืออ่อนแรงที่ขา
  • ปวดมากขึ้นเมื่อยืน เดิน หรือทำกิจกรรมบางอย่าง
  • ปวดน้อยลงเมื่อนอนพัก
  • ปวดตึง หรือรู้สึกหลังแข็ง

สาเหตุของการปวดหลังล่าง

  • กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ: เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อหลังมากเกินไป การยกของหนัก ท่าทางที่ไม่เหมาะสม ทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบ ปวดตึง
  • กระดูกสันหลังเสื่อม: พบในผู้สูงอายุ กระดูกสันหลังและข้อต่อเสื่อมสภาพ ทำให้เกิดอาการปวด
  • หมอนรองกระดูกเสื่อมหรือเคลื่อน: หมอนรองกระดูกที่รองรับระหว่างกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อน อาจไปกดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดหลัง ร้าวลงขา
  • กระดูกสันหลังคด: พบได้ในเด็กและวัยรุ่น กระดูกสันหลังงอผิดรูป ทำให้ปวดหลัง
  • โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบ: โรคข้ออักเสบชนิดต่างๆ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน อาจทำให้เกิดอาการปวดหลังโดยเฉพาะบริเวณหลังล่าง

การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่าง

ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยทั่วไปมีการรักษาโดยวิธีดังต่อไปนี้

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด

  • พักการใช้งาน: งดเว้นกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวดมากขึ้น นอนราบเพื่อพักการใช้งานหลัง
  • ประคบร้อนหรือเย็น: การประคบร้อนช่วยคลายกล้ามเนื้อ การประคบเย็นช่วยลดอาการอักเสบได้ในระยะเฉียบพลัน
  • ยาแก้ปวด คลายกล้ามเนื้อ: ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยาอะคอกเซีย ยาพาราเซตามอล ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • การทำกายบริหาร: ท่าบริหาร เพื่อยืดกล้ามเนื้อ และเสริมสร้างกล้ามเนื้อหลัง ลดอาการปวด และป้องกันการปวดกลับมาอีก
  • การทำกายภาพบำบัด: การใช้เครื่องมือทางกายภาพ เพื่อลดอาการปวด ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อและเอ็น เช่น
    • เครื่องกระตุ้นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Peripheral magnetic stimulation, PMS) เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไปกระตุ้นการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการปวดและคลายกล้ามเนื้อ
    • เครื่องเลเซอร์พลังงานสูง (High power laser, HPL) เป็นการปล่อยคลื่นแสงพลังงานสูง ไปกระตุ้นการทำงานระดับเซลล์ เพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ
    • เครื่องดึงหลัง (Lumbar traction) เป็นการใช้แรงดึงเพื่อคลายกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นและข้อต่อบริเวณแกนกลาง ลดแรงกดที่กระดูกและหมอนรองกระดูกสันหลัง

การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที 3-5 วันต่อสัปดาห์ เลือกประเภทการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น ว่ายน้ำ เดิน ปั่นจักรยาน โยคะ
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ: น้ำหนักตัวที่มาก เพิ่มแรงกดทับต่อกระดูกสันหลัง ทำให้ปวดหลังได้ง่าย
  • ปรับท่าทาง: นั่ง ยืน เดิน ยกของ ด้วยท่าทางที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงการนั่งนานๆ ลุกขึ้นยืดเส้นยืดสายบ่อยๆ
  • เลือกเก้าอี้และเตียงนอนที่รองรับสรีระ: เก้าอี้ควรมีที่รองรับหลัง ปรับระดับความสูงได้ เตียงนอนควรมีความนุ่มแข็งที่เหมาะสม

หากมีอาการปวดหลัง ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เรื้อรัง รักษาหายยาก สามารถมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้ที่ ฟรีเซีย รีแฮป คลินิก คลินิกฟื้นฟูและกายภาพบำบัด พระราม 3 ได้เลย ทางเรามีคุณหมอและเครื่องมือสำหรับการทำกายภาพเพื่อรักษาอาการปวดหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ