ปวดใต้ฝ่าเท้า ? ระวังเป็นโรครองช้ำ
อาการปวดใต้ฝ่าเท้าเกิดได้จากหลายสาเหตุหนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรครองช้ำ หรือ พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) เกิดจากการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้าที่เชื่อมระหว่างกระดูกส้นเท้าตลอดแนวถึงนิ้วเท้า มักพบในผู้ใหญ่ช่วงอายุ 30 – 60 ปี อาการปวดของรองช้ำมักสร้างความรำคาญและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ที่มีอาการ
สาเหตุที่ทำให้ปวดรองช้ำ
- การใช้งานเท้าหนักๆ เป็นเวลานาน: เช่น การเดิน การวิ่ง การยืนนานๆ
- น้ำหนักตัวมาก: ทำให้เพิ่มแรงกดทับบริเวณฝ่าเท้ามากขึ้น
- ลักษณะเท้าผิดปกติ: เช่น อุ้งเท้าแบน อุ้งเท้าโค้งสูง จะมีผลต่อการกระจายน้ำหนักเวลายืนและเดินทำให้เกิดแรงกระทำต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้ามากขึ้น
- รองเท้าที่ไม่เหมาะสม: รองเท้าที่พื้นแข็ง รองเท้าส้นสูง
- อายุที่เพิ่มขึ้น: เอ็นและกล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ
อาการของโรครองช้ำ
- อาการปวด: ความรู้สึกปวดแบบเสียดแทง เจ็บแปล๊บบริเวณส้นเท้าหรือฝ่าเท้า มักรู้สึกเจ็บมากตอนเช้าก้าวแรกๆที่เริ่มเดินหรือหลังจากนั่งพักนานๆ หลังจากเดินไปสักพักอาการจะดีขึ้น และอาจมีอาการมากขึ้นอีกครั้งเพื่อใช้งานเท้าต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- อาการตึง: รู้สึกตึงหรือแข็งบริเวณฝ่าเท้า
- อาการบวม: บวมแดงบริเวณส้นเท้าหรือฝ่าเท้า
การรักษาโรครองช้ำ
- การพักการใช้งาน: หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้ปวดมากขึ้น เช่น การยืนหรือเดินนานๆ ไม่เดินเท้าเปล่า และใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า เพื่อลดการลงน้ำหนักในเท้าข้างที่มีอาการเจ็บ
- การใช้ยารักษาอาการปวด: ยาแก้อักเสบ เช่น ไอบูโพรเฟน
- การทำกายภาพบำบัด:
- ฝึกยืดกล้ามเนื้อน่องและพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นประจำ
- ประคบเย็นบริเวณที่ปวด 15 – 20 นาที วันละ 2 – 3 ครั้ง
- การใช้เครื่องเลเซอร์พลังงานสูง (high power laser therapy) เพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น
- การใช้เครื่องคลื่นกระแทก (extracorporeal shock wave therapy) เพื่อกระตุ้นกระบวนการซ่อมแซมของเส้นเอ็น
- การใส่เฝือก (orthotics): ใส่เฝือกอ่อนในช่วงเวลานอนเพื่อยืดเอ็นร้อยหวายและพังผืดใต้ผ่าเท้า
- การฉีดยา: ฉีดยาสเตียรอยด์เข้าบริเวณที่มีการอักเสบ
- การผ่าตัด: กรณีรักษาวิธีอื่นๆ แล้วยังมีอาการเจ็บมาก
การป้องกันอาการปวดส้นเท้า
- ลดน้ำหนัก: ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม: เลือกรองเท้าที่มีพื้นหนานุ่ม รองรับแรงกระแทกได้ดี
- ยืดกล้ามเนื้อ: ยืดกล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหวาย และพังผืดใต้ฝ่าเท้าเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้งานเท้าหนักๆ เป็นเวลานาน: เปลี่ยนกิจกรรมที่ใช้งานเท้านานๆ หรือ ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกน้อยๆ เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน แทนการเดินหรือวิ่ง
โรครองช้ำ เป็นโรคที่รักษาได้ หากพบอาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะอาจทำให้เรื้อรัง รักษาได้ยากขึ้น สามารถมาปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูได้ที่ ฟรีเซีย รีแฮป คลินิก คลินิกฟื้นฟูและกายภาพบำบัด พระราม 3 ได้เลย ทางเรามีคุณหมอและเครื่องมือสำหรับการทำกายภาพเพื่อรักษาโรครองช้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ