ออฟฟิศซินโดรม – โรคยอดฮิตของคนทำงานยุคใหม่
ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นเครื่องมือหลักในการทำงานของคนที่ทำงานออฟฟิศ ส่งผลให้คนทำงานในยุคนี้มีพฤติกรรมการทำงานที่นั่งนานๆ ใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ส่งผลต่อระบบกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และดวงตา ก่อให้เกิดอาการปวดเมื่อยร่างกาย ปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดตา และอ่อนเพลียได้ ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) จริงๆแล้วเป็นกลุ่มอาการปวดของกล้ามเนื้อและพังผืดหรือในทางการแพทย์จะเรียกว่า Myofascial pain syndrome เป็นหลัก ซึ่งสำหรับชาวออฟฟิศที่ลักษณะการทำงานที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ หรืออยู่ในท่าทางเดิมๆเป็นเวลานาน ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดได้ง่าย พบได้เกือบทุกคน จนทำให้เกิดคำเรียกขึ้นมาสำหรับชาวออฟฟิศโดยเฉพาะ และนอกจากอาการปวดเนื้อเยื่อและพังผืดแล้ว สามารถพบเจออาการร่วมอื่นๆ เช่น ตาแห้ง จากการทำงานออฟฟิศได้อีกด้วย
สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และวิธีรักษาออฟฟิศซินโดรม
แน่นอนว่าเมื่อคุณเริ่มรู้สึกปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดตา หลายๆ คน เริ่มจะหาวิธีบรรเทาอาการปวดในแบบฉบับของตัวเองไม่ว่าจะเป็นการทานยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือแม้กระทั่งการนวดผ่อนคลายอาการตึงกลามเนื้อ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาไม่ได้มีวิธีการใดที่ถูกหรือผิดแต่อย่างใด แต่ทว่าการที่เราเข้าใจถึงสาเหตุ หรือต้นตอของอาการออฟฟิศซินโดรม ผ่านการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องจะช่วยให้เราสามารถรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมได้อย่างถูกจุด ดังนั้นทางคลินิกของเราจึงได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็น สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม อาการที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงวิธีป้องกัน และวิธีการรักษาที่แนะนำ
สาเหตุของออฟฟิศซินโดรม
- พฤติกรรมการทำงานที่ไม่เหมาะสม: เช่น การนั่งทำงานอยู่ในท่าทางเดิมๆเป็นเวลานาน การจัดท่านั่งในการทำงานที่ไม่เหมาะสม ก้มหน้าก้มตานั่งหลังค่อมทำงานกับคอมพิวเตอร์ หรือใช้โทรศัพท์มือถือในท่าที่ไม่ถูกต้อง
- สภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย: เช่น โต๊ะทำงาน เก้าอี้ทำงาน แสงสว่าง และอุณหภูมิห้องที่ไม่เหมาะสม
- ความเครียด: ส่งผลให้เกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อโดยไม่รู้ตัว เกิดผลให้เกิดอาการตึงเครียด ปวดเมื่อย อ่อนเพลียและนอนไม่เพียงพอได้
- โรคประจำตัว: เช่น โรคกระดูกคอเสื่อม โรคหมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท โรคข้ออักเสบ ส่งผลให้อาการออฟฟิศซินโดรมรุนแรงขึ้น
อาการของออฟฟิศซินโดรม
- อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย: โดยอาการของออฟฟิศซินโดรมคือการมีอาการปวดอย่างน้อยหนึ่งจุดหรือหลายจุดร่วมกันไม่ว่าจะเป็น อาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ ชาแขน ชาขา ปวดตา อ่อนเพลีย
- อาการทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: นอกเหนือไปจากอาการปวดเมื่อยตามร่างกายแล้ว ในบางกรณียังมีอาการของกล้ามเนื้อตึง ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกสันหลังเสื่อม หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท
- อาการทางระบบดวงตา: ในเมื่อพูดถึงอาการออฟฟิศซินโดรมแน่นอนว่าการจ้อง หรือการเพ่งสายตาไปที่จุดหนึ่งนาน อาจส่งผลให้เกิดอาการตาแห้ง ตาพร่ามัว ปวดตา แสบตา ล้าตา
- อาการทางระบบประสาท: หากมีอาการออฟฟิศซินโดรมสะสมและไม่ได้มีการบบรเทาอาการปวด อาจส่งผลถึงการชาปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า
- อาการทางจิตใจ: นอกเหนือไปจากอาการปวดทางกายภาพแล้วนั้น ปัจจัยทางด้านอารมณ์และจิตใจ ความเครียด อาการวิตกกังวล นอนหลับยาก ซึมเศร้า อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออาการออฟฟิศซินโดรมได้
วิธีป้องกันออฟฟิศซินโดรม
- ปรับพฤติกรรมการทำงาน: หากจำเป็นต้องทำงานต่อเนื่องเป็นเวลานาน พยายามขยับตัว เปลี่ยนท่าทางทุกๆ 1 ชั่วโมง และมีพักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุกๆ 20 นาที
- ปรับสภาพแวดล้อมการทำงาน: การจัดโต๊ะและเก้าอี้ทำงาน มีส่วนสำคัญในการช่วยลดอการปวดได้ การปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ และอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายเพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อและการออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง โยคะ จะช่วยให้ลดอาการปวดได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และยังได้ผลดีต่อสุขภาพด้วย
- จัดการความเครียด: ความเครียดจะทำให้อาการปวดแย่ลง พยายามหาวิธีผ่อนคลายตัวเอง ฝึกสมาธิ เล่นโยคะ หรือฟังเพลง เพื่อไม่ให้เครียดจนเกินไป
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ: จัดสถานที่นอน และการนอนหลับที่มีคุณภาพอย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: ตรวจสุขภาพเป็นประจำปี เพื่อป้องกันและค้นหาโรคประจำตัว
การรักษาออฟฟิศซินโดรม
จากที่กล่าวข้างต้น คนไข้ที่มีอากาศออฟฟิซซินโดรมเบื้องต้น มักจะหาวิธีจัดการกับอาการปวดด้วยการ รับประทานยา เช่นยาแก้ปวดคลายกล้ามเนื้อ นอกเหนือไปจากนั้นแล้ว การรักษาออฟฟิศซินโดรมยังสามารถรักษาได้แบบที่ไม่ใช่ยา เช่น การปรับพฤติกรรมการใช้งาน การนวดคลายกล้ามเนื้อ การประคบร้อน การออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อ การทำกายภาพบำบัดด้วยเครื่องมือต่างๆ และการฝังเข็มคลายจุดปวดของกล้ามเนื้อ การรักษาออฟฟิศซินโดรมที่ดีที่สุด ขึ้นกับสาเหตุ ความรุนแรงและอาการของแต่ละคน การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างละเอียดจึงเป็นขั้นตอนแรกที่พึงกระทำก่อนการรักษาออฟฟิซซินโดรมที่เหมาะสม หากใครที่มีอาการปวดและต้องการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูสามารถเข้ามาปรึกษาหมอได้ที่ ฟรีเซีย รีแฮป คลินิก คลินิกฟื้นฟูและกายภาพบำบัด พระราม 3 ได้เลย ทางเรามีคุณหมอและเครื่องมือสำหรับการทำกายภาพเพื่อรักษาอาการออฟฟิศซินโดรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ